กล้องโทรทรรศน์ และอุปกรณ์ต่างๆ ของ หอดูดาวแห่งชาติ_(ไทย)

กล้องโทรทรรศน์หลัก

กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ออกแบบและสร้างโดยบริษัท EOS Technologies, Inc. ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ติดตั้งในระบบ อัลตะซิมุท (Alt-azimuth System) ควบคุมการทำงานแบบอัตโนมัติโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มีประสิทธิภาพเล็งและติดตามวัตถุท้องฟ้าด้วยความแม่นยำสูง ระบบทัศนศาสตร์ของกล้องเป็นระบบ ริชชี- เครเทียน  (Ritchey-Chretien)  ซึ่งเป็นระบบทัศนศาสตร์ของกล้องโทรทรรศน์ที่ออกแบบมาให้ลดผลความบิดเบี้ยวของภาพที่เรียกว่า “โคมา (Coma)” กระจกหลัก (Primary Mirror) ของกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตรนี้เป็นกระจกโค้งไฮเปอร์โบลาที่มีค่าสัดส่วนทางยาวโฟกัส f/1.5 และมีค่าสัดส่วนทางยาวโฟกัสรวมของระบบเป็น f/10    ระบบโฟกัสของกล้องโทรทรรศน์นี้เป็นแบบ “แนสมิท (Nasmyth)” ทำให้แสงของดาวที่ผ่านเข้ามาสะท้อนออกทางด้านข้างของกล้องโทรทรรศน์ ดังนั้นจึงติดเครื่องบันทึกสัญญาณต่างๆ ที่จะใช้ไว้ทางด้านข้างของกล้อง

การเคลื่อนที่กวาดหาดาวของกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตรมีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูงมาก กล่าวคือ การเคลื่อนที่กวาดตามแนวอะซิมุทมีอัตราเร็ว 4 องศา/วินาที และการกวาดตามแนวมุมเงยมีอัตราเร็ว 2 องศา/วินาที ความแม่นยำในการชี้ไปที่วัตถุท้องฟ้ามีความละเอียดถึง 3 อาร์ควินาที และความแม่นยำในการตามดาวน้อยกว่า 0.5 อาร์ควินาทีในช่วงเวลา 10 นาที

กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตรนี้ผ่านการตรวจสอบขั้นตอนสุดท้าย ณ โรงงานที่สหรัฐอเมริกาโดยคณะกรรมการตรวจรับจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554 และส่งมายังประเทศไทยเพื่อติดตั้งที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 นับเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กล้องโทรทรรศน์รอง

กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.0 เมตร ภายในโดมทรงเปลือกหอย ขนาด 18 ฟุต ติดตั้งเพิ่มเติม ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา หรือ หอดูดาวแห่งชาติ เพื่อรองรับการศึกษาค้นคว้าวิจัยดาราศาสตร์ นับเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน ผลิตโดย บริษัท Planewave Instruments สหรัฐอเมริกา

อุปกรณ์อื่นๆ

           นอกจากกล้องโทรทรรศน์แล้ว สดร. ยังจัดหา และพัฒนาเครื่องบันทึกสัญญาณระดับสูงติดตั้งกับกล้องโทรทรรศน์นี้เพื่อใช้เก็บข้อมูลในการวิจัยทางดาราศาสตร์ ได้แก่

  • กล้องถ่ายภาพซีซีดี (CCD Camera) ความละเอียดสูงที่สามารถวัดความเข้มของแสงดาว (Photometry) ในช่วงความยาวคลื่นตั้งแต่อัลตราไวโอเล็ต คลื่นมองเห็นและอินฟราเรด วัดตำแหน่งดาว (Astrometry) และถ่ายภาพดาว (Photography)

เครื่องซีซีดี สเปกโทรกราฟ (CCD Spectrograph) ทั้งระดับความละเอียดปานกลางและความละเอียดต่ำ ที่สามารถวัดการความเร็วในแนวเล็ง (Radial Velocity) ของดาว วัดการแผ่พลังงานการแปรแสงและองค์ประกอบทางเคมีของดาว

ใกล้เคียง

หอดูดาวแห่งชาติ (ไทย) หอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป หอดูดาวแห่งชาติ (ญี่ปุ่น) หอดูดาวอาเรซิโบ หอดูดาววัดสันเปาโล หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา หอดูดาวหลวงเกรนิช หอดูดาวแห่งชาติ (จีน) หอดูดาวอินางาวะ หอดูดาวอนดาเกะ